2 เมษายน วันรักการอ่าน : การสร้างยอดนักอ่านปฐมวัย. โดย Suphak Pibool

2 เมษายน วันรักการอ่าน : การสร้างยอดนักอ่านปฐมวัย. โดย Suphak Pibool

เมื่อ 2 เมษายน 2011 เวลา 21:58 น. . …..ผมรู้สึกสะเทือนใจทุกครั้งที่มีคนมาบอกว่า พบเด็ก ม.1 ที่ยังอ่านหนังสือไม่ออก ระลึกถึงคำพูดของ ดร.โกวิทย์ วรพิพัฒน์(อดีต ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ) ที่เคยพูดกับผมว่า “สุพักตร์ คุณรู้ไหม เด็กที่อ่านหนังสือไม่ออก ล้วนแต่เป็นลูกชาวบ้านที่ยากจน ลูกของครู หรือลูกคนรวย จะอ่านหนังสือออกทุกคน ถ้าเราแก้ปัญหานี้ไม่ได้ สักวันหนึ่ง ประเทศเราจะไปไม่รอด” ผมจำคำพูดนี้ได้ขึ้นใจ….. วันที่ 2 เมษายน ของทุกปีเป็นวันหนังสือเด็กแห่งชาติ และ “วันรักการอ่าน” ซึ่งถือเป็นวันสำคัญยิ่งวันหนึ่งของคนไทย ผลการวิจัยยืนยันว่า เด็กที่ถูกปลูกฝังการอ่านกับพ่อแม่ตั้งแต่แรกเกิด จะมีพัฒนาการที่ดีในทุกด้าน ทั้งสติปัญญา ทักษะทางภาษา คณิตศาสตร์ ด้านอารมณ์ และคุณธรรม สำหรับผมเองเคยได้รับคำสอนจากคุณแม่ว่า “การอ่านหนังสือเยอะ ๆ จะทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปในทางที่ดียิ่งขึ้น” ได้เคยตั้งปณิธานในวันแรกของการเป็นครูที่โรงเรียนบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ในปี 2519 ว่า “จะอ่านหนังสือวันละ 50 หน้า ทุกวัน” แม้ทำได้ไม่สม่ำเสมอทุกวัน แต่ก็มีผลทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น อย่างเห็นได้ชัด จนถึงทุกวันนี้ ในปัจจุบัน เด็กไทย-คนไทยยังไม่รักการอ่าน ผมเชื่อว่า ในระยะปฐมวัย เด็กทุกคนมีนิสัยใฝ่รู้-ใฝ่เรียน โดยหลักฐานที่ชัดเจน คือ การชอบฟังนิทาน หรือเรื่องเล่าต่าง ๆ จากพ่อแม่/ผู้ปกครอง หรือครู ถ้าเด็กได้เจอนักเล่านิทานที่สร้างสรรค์ มีความสามารถในการกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น และสามารถป้อนคำถามให้เด็กคิดตามอย่างต่อเนื่อง จะเป็นการพัฒนาความสามารถด้านการคิดได้เป็นอย่างดี และจะก่อให้เกิดพัฒนาการที่เป็นเลิศได้ในหลาย ๆ ด้าน ปัญหาของประเทศเรา ณ เวลานี้ คือ เมื่อเด็กเข้าเรียนระดับประถมศึกษา ผมคิดว่า ระบบการศึกษาของเรายังประสบความล้มเหลวในการสร้างนิสัยรักการอ่าน โดยเฉพาะความล้มเหลวในช่วง 3 ปีแรกของระบบโรงเรียน คือ ป.1-3 เมื่อเด็กจบชั้น ป.3 เขาไม่สามารถก้าวถึงขั้นการเป็น “ยอดนักอ่านปฐมวัย-นักอ่านรุ่นเยาว์” ที่ติดตามข่าวสาร หรืออ่านหนังสือทุกวัน ในลักษณะการอ่านแบบสะสมไมล์ …มิหนำซ้ำ บางคน เรียนจนจบ ป. 6 ยังอ่านหนังสือไม่ออก…โอ..แล้วชีวิตเขาจะเป็นอย่างไร(ส่วนใหญ่เป็นลูกคนจนเสียด้วย) อยากชวนครูไทย พ่อแม่ไทย มาช่วยกันปลูกฝังนิสัยรักการอ่านและสมรรถนะด้านการอ่านแก่ลูกหลานไทย โดยกำหนดเป้าหมาย ดังนี้ -ป.1-2 ต้องฝึกทักษะการอ่านจนอ่านออก(ฝึกสะกดคำทั้งที่โรงเรียนและบ้านอย่างสอดรับกัน) -ป.2 ช่วงปลายปีต้องอ่านคล่อง(ขณะเรียน ป.2 ควรให้อ่านหนังสือพิมพ์วันละ 3 ย่อหน้า/พารากราฟ ฝึกอย่างน้อย 160 วัน หรือภาคเรียนละ 80 วัน โดยเด็ก 1 คน ต้องผ่านประสบการณ์การอ่านรวมไม่น้อยกว่า 480 ย่อหน้า/พารากราฟ) -ป.3 ต้องเป็นยอดนักอ่าน ที่อ่านคล่อง และอ่านสม่ำเสมอ คือ อ่านหนังสือพิมพ์ หรือหนังสือใด ๆ วันละอย่างน้อย 15-20 หน้า เป็นประจำ(เด็ก ป.4 ขึ้นไปของสิงคฺโปร์ ร้อยละ 90 อ่านหนังสือพิมพ์ก่อนไปโรงเรียนทุกวัน) สำหรับครู โดยเฉพาะครูที่สอนระดับประถมศึกษาทุกคน ทุกวิชา โปรดสัญญากับตนเองว่า เราจะช่วยเหลือดูแลนักเรียนด้วยความมุ่งมั่น จะต้องส่งเสริมให้เขาอ่านคล่องก่อนจบ ป. 3 การปล่อยให้เด็กจบชั้น ป.6 โดยอ่านหนังสือไม่ออก เป็นการสร้างบาปอย่างมหันต์ ที่ไม่สามารถลบล้างได้ เป็นการฆ่าคนให้ตายทั้งเป็นหรือทำลายทั้งชีวิต(ไม่นับกรณีเด็กที่มีความบกพร่องทางสมอง) สำหรับพ่อแม่หรือผู้ปกครองทุกคน โปรดระลึกเสมอว่า เมื่อถึงชั้น ป.3 หากลูกเรายังอ่านหนังสือไม่ออก มันหมายถึงหายนะกำลังจะมาถึงชีวิตลูกและตระกูลเรา..ขอให้ดิ้นรนช่วยชีวิตลูกจนสุด ๆ อย่าปล่อยปละละเลยอีกต่อไป ……อันที่จริง ผมคิดว่า ป.1-3 เอาแค่อ่านภาษาไทยคล่อง-รักการอ่าน มีทักษะคณิตศาสตร์พื้นฐาน คุ้นนเคยกับสำเนียงภาษาอังกฤษ และมีทักษะชีวิตที่จำเป็น น่าจะเพียงพอแล้ว ไม่ต้องอัดเข้าไปตั้ง 8 สาระ จนในที่สุด “ไม่ได้สักสาระ” หรือประสบปัญหาจนถึงขั้นอ่านไม่ออก(เป็นภาวะที่เรียกว่า “สำลักสาระ” )…….เรื่องนี้ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(บอร์ด กพฐ)ต้องตัดสินใจครั้งสำคัญ ควรผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง

ใส่ความเห็น